ชาวลาวครั่งแต่เดิมอาศัยอยู่แถบเทือกเขาภูคังในหลวงพระบาง ผู้คนจึงเรียกว่า “ลาวภูคัง” และเรียกเป็นภาษาพื้นเมืองอีกหลายชื่อ เข่น ลาวครั่ง ลาวคั่ง บางคนเรียกลาวเต่าเหลือง เนื่องจากชอบอยู่อย่างอิสระและอดทนเหมือนเต่าภูเขาที่มีกระดองสีเหลือง
ลักษณะทั่วไปของชาวลาวครั่ง คือ มีรูปร่างค่อนข้างไปทางสูงหรือสันทัด ทั้งหญิงและชาย ผิวค่อนข้างเหลือง ตาสองชั้น ใบหน้าไม่เหลี่ยมมาก จมูกมีสัน ผมเหยียดตรง นุ่งผ้าซิ่นคลุมเข่า นุ่งซิ่นมัดหมี่มีดอก ลาวครั่งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
จากเอกสารการวิจัยและจากการค้นคว้า อาจสรุปความหมายของลาวครั่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง มาจากชื่อภูเขา ในอาณาจักรหลวงพระบางที่มีรูปร่างเหมือนระฆัง จึงทำให้เรียกชื่อตามนั้นว่า “ลาวภูคัง” และเรียกต่อกันมาจนเพี้ยนกลายมาเป็น “ลาวครั่ง”
ประเด็นที่สอง สันนิษฐานว่า สาเหตุที่เรียกชื่อกลุ่มของตนเองมาตั้งแต่โบราณว่า “ลาวครั่ง” เป็นการเรียกตามชื่อของครั่งที่นิยมนำมาใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีแดง เพื่อใช้ในการทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับคนไทยเชื้อสายลาวครั่งในจังหวัดสุพรรณบุรีส่วนมากอาศัยอยู่ในอำเภอเดิมบางนางบวช เช่น ตำบลบ่อกรุ ตำบลหนองกระทุ่ม ตำบลป่าสะแก และในอำเภอด่านช้าง เช่น ตำบลหนองมะค่าโมง เป็นต้น ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ |